top of page

อยู่บ้านก็เรียนนอกได้ 10 คอร์สออนไลน์เรียนฟรี จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกา

สวัสดีครับเช้านี้ครูลูกชาวนาชวนมาเรียนต่อต่างประเทศฟรีๆ จาก10 คอร์สเรียนฟรีทรงคุณค่า จากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยการคัดสรรมาให้จาก The momentum.com รับรองว่ามีคุณภาพเป็นอย่างมากครับ


โลกออนไลน์ก็ทำให้เราสามารถลงเรียนวิชาจากมหาวิทยาลัยไหนก็ได้บนโลกนี้ (ที่เขาเปิดสอน) เราจึงลองไปส่องดูวิชาเรียนที่จากบรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกา หรือที่เรียกรวมๆ ว่า ไอวี่ ลีก ที่มีให้เลือกตั้งแต่สายไอที มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ธุรกิจ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ จนถึงการพัฒนาตนเอง ฯลฯ และในโอกาสนี้ The Momentum จึงอยากแนะนำ 10 รายวิชาที่น่าสนใจ เหมาะกับยุคสมัย และน่าจะทำให้เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหว ไปจนถึงประเด็นดราม่าที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และความรู้ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งอาวุธชั้นดี


1. จริยธรรมการกิน The Ethics of Eating

มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์

ทุกวันนี้การจะตัดสินใจกินอะไรสักอย่าง เรามีอะไรให้ต้องพิจารณาอีกมากมาย ไม่ใช่แค่ความอร่อย คุณค่าทางอาหาร หรือกระทั่งราคา และวิชาจริยธรรมการกินก็จะพาเราไปสู่โลกของการคิดทบทวนว่าแต่ละสิ่งที่เรากินเข้าไป มันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจ หรือชีวิตผู้คนอย่างไรบ้าง 

เราจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจหลักคิดของผู้ถือปฏิบัติหลักการต่างๆ เช่น ทำไมพวกวีแกนถึงปฏิเสธที่จะกินเนื้อ นม ไข่ หรือ ทำไมเหล่าโลคาวอร์ (Locavore) ถึงเลือกกินแต่อาหารที่ผลิตในท้องถิ่นตัวเองเท่านั้น การนำเข้ามันส่งผลร้ายแรงอย่างไร? จนถึง ทำไมอาหารที่ส่งตรงจากฟาร์มถึงจะดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมมากกว่า ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เพียงแต่เพื่อให้เข้าใจ ตัดสินใจ และเลือกทางของตัวเอง แต่ยังรวมไปถึงทำให้เห็นภาพว่าภาครัฐหรือนายทุนใหญ่ควรตระหนักรู้ สำนึก และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการใดๆ อย่างไรบ้าง 

ใครที่ลงเรียนในคลาสนี้จะได้ฟังเลกเชอร์ทั้งจากนักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา นักเคลื่อนไหว รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอาหาร ขณะเดียวกันเสียงตอบรับที่มีต่อคลาสนี้มีแตกต่างกันออกไป อ่านทั้งรายละเอียดต่างๆ ผู้สอน ผู้บรรยาย ระยะเวลาในการเรียน จนถึงรีวิวมันๆ ได้ที่ 

2. ศีลธรรมในชีวิตประจำวัน Moralities of Everyday Life

มหาวิทยาลัยเยล

ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความคิดเห็นหลากทิศทาง คงยากที่เราจะฟันธงได้ฉับๆ ว่าอะไรดีงาม อะไรโหดร้าย วิชานี้จะพาเราไปสำรวจในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เริ่มตั้งแต่คำถามหลักที่ว่า “ศีลธรรมคืออะไร?”  

นอกจากนี้ยังพาไปสำรวจและพยายามหาคำตอบจากคำถามเช่นว่า ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างไร และเราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากคนที่ขาดความรู้สึกเหล่านี้เช่นคนที่เป็นไซโคพาธ, วัฒนธรรมที่แตกต่างส่งผลต่อศีลธรรมของแต่ละคนอย่างไร, ศาสนามีบทบาทอย่างไร, ทำไมใครบางคนเป็นอนุรักษนิยมขณะที่อีกคนเป็นเสรีนิยม, การเมืองส่งผลต่อการตัดสินผิด-ถูก สำหรับแต่ละคนอย่างไรบ้าง, ทำไมเราถึงมีศีลธรรมต่อคนที่ใกล้ชิดเรามากกว่า (ทั้งที่คนทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน) 

วิชานี้ยังพาไปจนถึงคำถามที่ว่า การตัดสินใจด้วยสมอง สัญชาตญาณ หรือด้วยสถานการณ์พาไป แบบไหนที่เราจะเรียกได้ว่าเป็นการกระทำเชิงศีลธรรม? อ่านรายละเอียดรายวิชาเพิ่มเติมได้ที่


3. การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม: 1950-2018 Fighting for Equality: 1950–2018

มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

น่าสนใจตรงที่ขอบเขตเนื้อหาวิชานี้ลากยาวมาจนถึงปี 2018 ดังนั้นเราน่าจะได้เห็นภาพรวมของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในยุคสมัยที่ใกล้ตัวอย่างยิ่งหรือกระทั่งใครหลายคนน่าจะเคยติดตามการเคลื่อนไหวเหล่านั้นอย่างใกล้ชิดด้วยซ้ำ และเราก็จะได้เห็นรากฐานความคิดที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกโน่นเช่นกันจริงๆ แล้ววิชานี้เจาะไปที่ความเคลื่อนไหวของผู้หญิงและเฟมินิสต์ในอเมริกาเป็นหลัก แต่แน่นอนว่าเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะหลายแนวคิดที่เฟมินิสต์สายต่างๆ ยึดถือก็มาจากฝั่งอเมริกาเสียเป็นส่วนใหญ่ และความไม่เท่าเทียมทางเพศก็ยังคงเกิดขึ้นทั่วไปบนโลก จึงน่าจะดีที่เราจะได้เข้าไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจสายธารความคิดต่างๆ รวมถึงความขัดแย้งที่เปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัย บางข้อถกเถียงยังคงอยู่ บางข้อถกเถียงเก่าไปแล้ว บางข้อถกเถียงเลยเถิด ขณะที่ความไม่เท่าเทียมยังอยู่ วิชานี้น่าจะทำให้เราเห็นภาพอะไรได้มากขึ้น

อ่านรายละเอียดรายวิชาเพิ่มเติมได้ที่


3. ฮอลลีวูด: ประวัติศาสตร์, อุตสาหกรรม, ศิลปะ Hollywood: History, Industry, Art

มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

ไม่มีใครไม่รู้จักอิทธิพลของอุตสาหกรรมหนังอเมริกัน และวิชานี้จะพาไปทำความรู้จักกับฮอลลีวูดให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น ถึงความซับซ้อนของอุตสาหกรรม ธุรกิจ และการเมือง ที่ส่งผ่านออกมาผ่านเป็นศิลปะภาพยนตร์ โทรทัศน์ และสื่อสมัยใหม่อื่นๆ 

เนื้อหาจะพาไปเรียนรู้ตั้งแต่การเติบโตของฮอลลีวูดจากยุค 1920s และการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีตั้งแต่ยุคหนังเงียบ การใส่เสียงลงในภาพยนตร์ การใส่สีลงในภาพยนตร์ จนถึงยุคของวิดีโอ ซีดี คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ทั้งยังพาไปดูความสัมพันธ์ระหว่างฮอลลีวูดกับฝั่งหนังอินดี้ ไปจนถึงศึกษาว่าหนังฮอลลีวูดมีปฏิกิริยาตอบรับต่อประเด็นทางการเมืองอย่างไรบ้าง ตั้งแต่สงครามโลก สงครามเย็น การเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมในยุค 1960s จนถึงเหตุการณ์ 9/11 โดยจะมุ่งศึกษาจากหนังของค่ายใหญ่ๆ เป็นหลัก 

อ่านรายละเอียดรายวิชาเพิ่มเติมได้ที่


5. ศาตร์แห่งข้อมูล : โปรแกรม R ระดับพื้นฐาน Data Science: R Basics

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ในยุคนี้ใครๆ ก็มองว่าดาต้ากำลังจะครองโลก และโปรแกรม R ซึ่งเป็นภาษาทางคอมพิวเตอร์ที่ใช้คำนวณทางสถิติ ก็เป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งในการจัดการกับดาต้าต่างๆ ที่มีอยู่ท่วมท้นรอบตัว แต่บางทีเราก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มจัดการกับมันอย่างไรดี เพื่อจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เราอยากเห็น

วิชานี้จะพาไปรู้จักฟังก์ชั่นต่างๆ ของโปรแกรม R และประเภทของดาต้า เริ่มต้นตั้งแต่วิธีใช้คำสั่งอย่างง่ายเช่น ‘if-else’ หรือ ‘for loop’ ไปจนถึงวิธีเลือกใช้ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และแปลงให้ข้อมูลกลายเป็นภาพ โดยรวมคือเรียนพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับปูพื้นไปยังวิชาขั้นสูงต่อๆ ไป สำหรับใครที่หลงใหลในโลกของดาต้า วิชานี้น่าจะหอมหวาน

อ่านรายละเอียดรายวิชาเพิ่มเติมได้ที่


6. คอร์รัปชันคืออะไร: การต่อต้านและการเอื้อต่อคอร์รัปชัน What is Corruption: Anti-Corruption and Compliance

มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

คอร์รัปชันถูกประณามหยามเหยียดเสมอมา แต่ทำไมสิ่งนี้ถึงอยู่คู่องค์กรมนุษย์มาตลอด นี่คงเป็นคำถามที่หลายคนอยากหาคำตอบแต่ก็เหมือนจะรู้ๆ กันอยู่ รายวิชานี้เพิ่งเปิดสอนใหม่เอี่ยมในปีนี้ เก๋ตรงที่มันเริ่มจากคำถามที่ว่า “คุณเคยจ่ายเงินให้ใครทำสิ่งที่คุณต้องการหรือเปล่า?” และพาไปถกกันตั้งแต่การให้ทิป ส่วย ไปจนถึงสินบน ว่าแต่ละข้อนั้นต่างกันอย่างไรและทำไมจึงต่างกัน 

หลังจากนั้นจึงพาไปเรียนรู้ผ่านกรณีการคอร์รัปชันของรัฐบาลสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร และกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชันในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงโครงสร้างที่เอื้อต่อการคอร์รัปชัน ว่ามีอะไรเป็นอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ผู้เรียนยังจะได้ศึกษาวิธีการป้องกันคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นในองค์กรของตัวเอง (ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ คงต้องลองลงเรียนแล้วนำไปใช้กันดู) 

อ่านรายละเอียดรายวิชาเพิ่มเติมได้ที่


7. ศาสนา, ความขัดแย้งและสันติภาพ Religion, Conflict and Peace

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

วิชานี้จะพาไปศึกษาข้อขัดแย้งต่างๆ ในยุคสมัยใหม่ ที่เกิดจากความแตกต่างทางศาสนาในพื้นที่ทั่วโลก ตั้งแต่ในอียิปต์ ฝรั่งเศส อิสราเอล-ปาเลนสไตน์ ไนจีเรีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ การ์ตา ตุรกี ซีเรีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งดูว่าศาสนาหรือองค์กรทางศาสนาส่งผลต่อความขัดแย้งหรือมีส่วนสร้างสันติภาพอย่างไรบ้าง 

ทั้งยังพาไปดูกันว่าความเชื่อทางศาสนาส่งผลต่อวิถีชีวิตคนในพื้นที่นั้นๆ อย่างไรบ้าง ตั้งแต่สุขอนามัยสาธารณะ การศึกษา และการประกอบอาชีพ รวมถึงทำไมศาสนาจึงไม่สามารถแยกออกจากการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคมได้เลย  

อ่านรายละเอียดรายวิชาเพิ่มเติมได้ที่


8. เสรีภาพในการแสดงออก และข้อมูลข่าวสารในยุคโลกาภิวัตน์ Freedom of Expression and Information in the Time of Globalization: Foundational Course

มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

คำว่าเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) ถูกนิยามขึ้นตั้งแต่ปี 1948 แต่ขอบเขตของมันก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยมีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญ วิชานี้จะนำเสนอและชวนวิเคราะห์บรรทัดฐานต่างๆ ของโลกที่แตกแยกย่อยออกไปเรื่อยๆ ผ่านกาลเวลา ซึ่งจะนำไปสู่การนิยามและปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้คน 

วิชานี้เป็นตัวปูพื้นฐาน ประกอบไปด้วยเลกเชอร์จากดอกเตอร์แอกเนส คัลลามาร์ด (Dr. Agnes Callamard) ผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพในการแสดงออกแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ปรึกษาพิเศษด้านการวิสามัญฆาตกรรมให้กับสหประชาชาติ และเป็นผู้ตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนในกรณีฆาตกรรมนายจามาล คาช็อกกิ นักข่าวที่ถูกฆ่าตายหลังจากวิจารณ์มกุฏราชกุมารซาอุดิอาระเบีย 

ในวิชานี้จะเริ่มตั้งแต่เรื่องที่ว่าทำไมเสรีภาพในการแสดงออกจึงสำคัญ ทั้งในแง่การพัฒนาตนเองจนถึงแง่มุมทางประชาธิปไตย, ประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง, การมองประเด็นเหล่านี้ผ่านข้อพิพาทในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก การพูดในที่สาธารณะ การปราศรัย จนถึงการเขียนเพื่อสื่อสาร การนำเสนอข่าว และการปกป้องแหล่งข่าว ฯลฯ

อ่านรายละเอียดรายวิชาเพิ่มเติมได้ที่


9. วิทยาศาสตร์การทำอาหาร: จากอาหารชั้นสูงสู่อาหารสไตล์โมเลกุลาร์ Science & Cooking: From Haute Cuisine to Soft Matter Science (part 1)

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ทุกวันนี้เราน่าจะคุ้นตากับอาหารแนวใหม่ที่มาเป็นฟอง เป็นสเฟียร์ ฯลฯ วิชานี้จะพาไปดูเบื้องหลังของเหล่าเชฟที่ใช้วิทยาศาสตร์เข้าช่วยในการรังสรรค์อาหารของพวกเขา โดยผู้เรียนเองสามารถนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้เรียนรู้ไปทดลองทำอาหารในห้องครัวของตัวเองได้ด้วย 

เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารตั้งแต่ระดับโมเลกุลที่จะส่งผลต่อรสชาติ ความเป็นกรดด่างของอาหาร อุณหภูมิระดับต่างๆ ที่จะส่งผลต่อรสชาติและเท็กซ์เจอร์ เช่นการทำไข่ให้สุกในระดับต่างๆ หรือการใช้ความร้อนเพื่อสร้างเท็กซ์เจอร์ที่แตกต่างระหว่างด้านนอกกับด้านในของอาหาร รวมถึงจะได้เรียนรู้เทคนิคการซูวี (sous vide) จากภัตตาคารระดับโลก ที่จะรักษารสชาติของวัตถุดิบได้อย่างเยี่ยมยอด, เทคนิคการทำอาหารสเฟียร์ รวมถึงเทคนิคอื่นๆ ที่เหมาะมากในการเรียนรู้และทดลองในช่วงเวลาอยู่บ้าน หรือไม่ก็ไว้หาความรู้เพิ่มเติมสำหรับคนที่สนใจศาสตร์ใหม่ๆ เกี่ยวกับอาหารการกิน

อ่านรายละเอียดรายวิชาเพิ่มเติมได้ที่


10. จินตนาการถึงโลกดวงอื่นๆ Imagining Other Earths

มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน

จักรวาลนี้ยังมีอะไรให้ค้นหาอีกมากนัก และวิชานี้ก็จะพาเราไปรู้จักดวงดาวอื่นๆ ในระบบสุริยะเดียวกัน และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งในและนอกกาแล็กซี่ ความสำคัญของน้ำและธาตุต่างๆ บนดาวแต่ละดวง เพื่อจะไปถึงความเป็นไปได้ในการมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนดาวดวงอื่นอันไกลโพ้น 

คงไม่ต้องพูดอะไรมาก แต่ใครที่ชื่นชอบความไซ-ไฟ หรือโลกอวกาศ น่าจะอินไปกับวิชานี้ได้เป็นอย่างดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

อันที่จริงยังมีวิชาเรียนดีๆ จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกมากมายทั่วโลก ใครที่สนใจลองไปติดตามกันได้ที่ https://www.classcentral.com/

ขอบคุณข้อมูลจาก the momentum.com

https://themomentum.co/10-online-courses-we-should-take/


ครูลูกชาวนา


ดู 22 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page